วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

ทัชมาฮาล อัครอนุสรณ์สถานแห่งความรัก

ทัชมาฮาล อัครอนุสรณ์สถานแห่งความรัก

ทัชมาฮาล นั้นถ้าคนที่ไม่รู้ประวัติมาก่อน เห็นความสวยงามแล้วคงไม่นึกว่าจะเป็นสุสานหินอ่อน ที่ผู้คนทั้งหลายยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่สวยที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอัครา ประเทศอินเดีย นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ในการโหวตล่าสุดจากชาวเน็ททั่วโลก และก็ติดอันดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคใดๆก็ตาม และเมื่อเร็วๆนี้อินเดีย ก็เพิ่งได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 350 ปีของทัชมาฮาล ซึ่งเป็นเสมือนสมบัติอันล้ำค่าของคนอินเดีย ดังนั้น ทางการจึงเข้มงวดกวดขันกับการดูแลรักษาทัชมาฮาลมาก เนื่องจากสภาวะมลพิษต่างๆได้ส่งผลเสียหายต่อผิวหินอ่อนของทัชมาฮาลมาก ทั้งฝุ่นควัน และฝนกรดที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรม ทางการต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการบูรณะรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ จึงไม่อนุญาตให้ขบวนยานพาหนะที่เต็มไปด้วยมลพิษและโรงงานอุตสาหกรรมเข้าใกล้ทัชมาฮาล เขาได้จัดที่จอดรถไว้ห่างประมาณหนึ่งกิโลเมตร และต้องเช่ารถม้า หรือรถไฟฟ้าคันเล็กๆเข้าไปกันเอง

ทัชมาฮาล (ตาช มฮัล) มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอาหรับ ตาจญ์ (มงกุฎ) และ มะฮัล (สถาน) เป็นอนุสรณ์สถาน สร้างขึ้นโดยกษัตริย์อินเดีย ผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ คือเจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิชาห์ จาฮาน จักรพรรดิมุสลิมองค์ที่ห้าแห่งราชวงศ์โมกุล ทรงพระราชสมภพในปี พ.ศ. 2135 พระบิดา คือ จักรพรรดิ ชาห์ ชฮานชีร์

ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายขุร์รัม ได้พบกับ อรชุมันท์ พานุ เพคุม ธิดาของรัฐมนตรี เชื้อสายเปอร์เซีย เมื่อพระองค์ มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา พระองค์ทรงหลงใหลและหลงรักสาวงามนางนี้ เจ้าชายขุร์รัมจึงซื้อเพชรด้วยเงิน 10,000 รูปี และบอกแก่พระบิดาของพระองค์ว่าพระองค์มีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับบุตรสาวของรัฐมนตรี แต่พิธีอภิเษกก็ถูกจัดขึ้นหลังจากนั้น 5 ปี ในปี พ.ศ. 2155 และตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองก็มิเคยอยู่ห่างกันอีกเลย


ประตูด้านนอก


ทางเดินและแนวกำแพงก่อนถึงประตูชั้นใน


เมื่อมองผ่านแนวประตูชั้นใน ก็จะพบภาพแรกของทัชมาฮาล ตั้งตระหง่านอยู่


ซุ้มประตูใหญ่ชั้นใน ที่สร้างได้อย่างอลังการ ไม่น้อยหน้าอาคารหลัก

หลังจากที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม และเรียกนางว่า มุมตัซ มาฮาล หรือ "อัญมณีแห่งราชวัง" ซึ่งได้ติดตามพระองค์ไปทุกหนแห่ง แม้แต่ในสนามรบ ทั้งได้แนะนำพระองค์ในเรื่องราชการของประเทศ จนพระองค์ซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระมเหสียิ่งนัก วาระสุดท้ายที่มุมตัช มาฮาล มเหสีสุดที่รักของกษัตริย์ ชาน์ จาฮานจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับนั้น กษัตริย์ชาห์จาฮาน ยกทัพไปปราบกบฏข่านชะหานโลดีที่เดกคานโดยมีมุมตัช มาฮาล ติดตามไปให้กำลังใจสามีด้วยทั้งๆที่เธอตั้งท้องแก่ เมื่อกษัตริย์ชาห์จาฮาน ปราบกบฏราบคาบแล้ว ก็กลับเมืองมุระหันปุระ มุมตัช มาฮาลเจ็บท้องคลอดลูกแต่พอเธอคลอดแล้วเธอตกเลือดมาก อยู่เพียงชั่วโมงเดียวก็สิ้นใจในอ้อมกอดของกษัตริย์ชาห์จาฮาน ก่อนที่มุมตัช มาฮาล จะสิ้นใจ เธอได้ขอร้องสามี 2 ข้อด้วยกัน คืออย่าให้กษัตริย์ชาห์จาฮาน มีภรรยาใหม่ และขอให้กษัตริย์ชาห์จาฮาน สร้างอนุสาวรีย์ที่ฝังศพของเธอให้งดงาม เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกให้ได้ กษัตริย์ชาห์จาฮานรับปากที่จะปฏิบัติตามทุกอย่าง เยี่ยงสามีที่รักภรรยาอย่างสุดชีวิต ในครั้งแรกศพของ มุมตัช มาฮาล ฝังไว้ที่เมืองมุระหันปุระ เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายไปสู่นครอัครา จนกระทั่งต่อมาอีก 6 เดือนกษัตริย์ชาห์จาฮานได้สั่งให้เคลื่อนย้ายศพของเธอไปบรรจุไว้ที่หลุมฝังศพในสวนราชาขัยสิงห์ แห่งนครอัครา โดยสร้างศาลาชั่วคราวไว้เหนือหลุมศพ ในวันเคลื่อนศพมุมตัช มาฮาล มายังนครอัครานี้ ได้มีริ้วขบวนเกียรติยศยิ่งใหญ่มาก เจ้าชายสุชาโอรสองค์ที่สองของกษัตริย์ชาห์จาฮาน นำขบวนประยูรญาติเดินตามพระศพ มีการโปรยทานตลอดทาง


เดินจากซุ้มประตูชั้นใน ก็จะถึงแท่นยกพื้นใหญ่ เป็นจุดที่จะมองทัชมาฮาลได้อย่างเต็มตา



ถ้าหันหลังกลับก็จะเห็นซุ้มประตูที่ผ่านเข้ามา


นับแต่มุมตัช มาฮาลสิ้นชีวิต กษัตริย์ชาห์จาฮาน ก็หมกมุ่นจมปลักอยู่ในความทุกข์ตลอดเวลา มิได้ยิ้ม มิได้หัวเราะ โดยเฉพาะมิได้สนใจต่อร่างกายตนเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัว จนผมดำกลายเป็นผมขาวทั้งศีรษะ ทุกวันกษัตริย์ชาน์จาฮานนุ่งขาวห่มขาว ไปนั่งรำพันถึงมุมตัช มาฮาล ข้างหลุมศพ บางครั้งกอดหลุมศพรำพันอย่างเสียสติ กษัตริย์ชาห์จาฮาน ได้โปรดนำเงินหนึ่งแสนรูปีออกทำบุญแผ่กุศลแก่มุมตัช มาฮาล หลังจากที่เธอจากไปเป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1631 กษัตริย์ชาห์จาฮาน โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ใหญ่ เป็นที่ฝั่งศพของมุมตัช มาฮาล โดยเลือกบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำยมนา ตอนโค้งที่สวยงามและเหมาะที่สุด โดยที่นี่เดิมเป็นสวนของขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน มีเนื้อที่ 125 ไร่ ครั้งแรกกษัตริย์ชาห์จาฮาน ให้ทำรูปจำลองก่อนด้วยไม้ เมื่อรูปจำลองพอใจแล้ว จึงมีการลงมือสร้างด้วยหินอ่อนขาวชนิดเยี่ยมทั้งสิ้น สถาปนิกที่ออกแบบก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ กษัตริย์ชาห์จาฮานได้เชิญสถาปนิกเอกทั่วอินเดีย เตอร์กี และเปอร์เซีย (อิหร่าน) มาเป็นทีมงานสถาปนิกและวิศวกร โดยมีสถาปนิกใหญ่ ผู้ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม (และโชคร้ายที่สุด) ซึ่งกษัตริย์ชาน์จาฮานคัดเลือกคือ อุสตาด ไอซา เป็นผู้ออกแบบ และมุหะมัด อิซเอฟันดี ชาวเตอรกี เป็นสถาปนิก มุหะมันชารีฟแห่งแคว้นซามาระกันต์ เป็นผู้ช่วย ทั้งสองได้รับเงินเดือนๆละ 1 พันรูปี มุหะมัด ฮานนีฟ แห่งอัครา เป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายวิศวกร อิสไมล์ข่าน แห่งเตอร์กี เป็นผู้สร้างโดม มโนสิงห์ แห่งละโฮว์ มันสิฑาร์ แห่งมุลตาล โหหันลาล แห่งกาเนาร์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายตกแต่ง อมานข่าน แห่งเปอร์เซีย และมุหะมัดข่าน แห่งแบกแดด เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรจารึก ซาดสมานิ ข่าน แห่งอาหรับเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะทั่วไป อมตามูหะมัก แห่งมอสควา เป็นนายช่างแกะสลัก อับดุลสะ แห่งเมืองเดลี มุหะมัด สัจจะ แห่งเมืองบอล์ซ และสกุลลา แห่งเมืองมุลตาน เป็นช่างก่ออิฐ พลเทพพาส อมีร์อาลีราษันข่าน แห่งมุลตาน เป็นผู้สลักดอกไม้ อับดุล การิบ และมาการะมัดข่าน เป็นผู้สร้างที่ฝั่งศพ มุฮัมมัดอิชา ออกแบบอนุสาวรีย์ โดยอาศัยเค้าโครงจากที่ฝังศพของหูมายูนที่เมืองนิวเดลี เห็นรายชื่อทีมงานเหล่านี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่สิ่งก่อสร้างเลื่องชื่อนี้จะสวยงามแบบไม่มีใครเปรียบ และราชสมบัติส่วนใหญ่ของกษัตริย์ชาห์จาฮาน ก็ได้ทุ่มเทไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์แห่งนี้ ในสมัยนั้นพระองค์ใช้ทรัพย์ไปมากมาย แต่หลายแหล่งระบุไม่ตรงกัน เลยไม่รู้จะเชื่อใครดี เอาเป็นว่า มากมายมหาศาลก็แล้วกันครับ


รายละเอียดลวดลายประดับหินมีค่าและอัญมณี


อาคารเป็นแบบจตุรมุข เหมือนกันทั้ง 4 ด้าน

ส่วนยอดหอคอย



รายละเอียดของโดมทรงหัวหอม

ทัชมาฮาล ออกแบบสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุดในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมุสลิม มีส่วนยอดของทัชมาฮาล เป็นโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม (หรือทรงหัวหอม) เป็นเอกลักษณ์ มีขนาด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร ออกแบบโดยนายช่างชาวอิหร่าน ชื่อ อุสตาด ไอซา ที่อุตส่าห์ทุ่มเททำงานอย่างสุดฝีมือ แต่สุดท้ายกลับถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยกว่าได้ ช่างเป็นรางวัลที่ห่วยที่สุดในโลกทีเดียว (ขอไว้อาลัยในฐานะสถาปนิกร่วมโลกรุ่นเหลน) มีแรงงานก่อสร้างร่วม 20,000 คน ทุกฝ่ายทุ่มเทสุดความสามารถ และทุ่มเทชีวิต สร้างอนุสาวรีย์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อมุมตัช มาฮาล ผู้เคยให้ความเมตตากรุณาต่อพวกเขาอย่างยิ่ง ในขณะที่เธอยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งประณีตวิจิตรบรรจงเท่าใด ก็เป็นการถวายความจงรักภักดีมากเท่านั้น


มุมมองจากฝั่งแม่น้ำ


โค้งน้ำยมุนาด้านหลัง

วัสดุก่อสร้างชั้นดี ถูกคัดเลือกมาจากแหล่งต่างๆ เช่นหินอ่อนได้จากเมืองชัยปุระ ศิลาแลงจากฟาเตปุรริขรี พลอยสีฟ้าจากธิเบต พลอยสีเขียวจากอียิปต์ หินสีฟ้า และโมราจากคัมภัย เพชรจากเมืองฟันนา หินทองแดงจากรัสเซีย และหินทรายจากแบกแดด ต้องใช้ช้างถึง 1000 เชือก ในการขนวัสดุก่อสร้างทั้งหมด การก่อสร้างกินเวลานานถึง 22 ปี จึงแล้วเสร็จ จึงไม่น่าแปลกใจกับกับคำจำกัดความของการก่อสร้างที่นี่ว่า "having been designed by giants and finished by jewellers" แต่ความงามของทัชมาฮาล ไม่ได้จบลงแค่นั้น ด้วยที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ยังก่อเกิดความงามจากแสงสว่างที่ตกกระทบและสะท้อนสู่ตัวหินอ่อนอีกด้วย แสงสีนี้จะเปลี่ยนไปตามวัน เวลา และฤดูกาล เช่นแสงแดดตอนเช้า จะสะท้อนสีชมพูอ่อน ตอนบ่ายจะเป็นสีขาวขุ่น และตกกลางคืน แสงจันทร์จะส่องเป็นประกายสีทอง


ลวดลายอันวิจิตรพิสดารภายใน

ส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดในทัชมาฮาลนี้ คือ หลุมศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล ซึ่งถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ อยู่ตรงกลางภายใต้หลังคาโดมใหญ่ มีแท่นวางหีบศพที่ทำด้วยหินอ่อน และมีฉากหินอ่อนฉลุลายงามเป็นพิเศษกั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่พระศพจริงๆ หาได้บรรจุอยู่ในหีบศพนั้นไม่เป็นแค่หีบจำลอง แต่หีบจริงนั้นกลับฝังอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินตรงบริเวณนั้นแทน ภายในทัชมาฮาลนี้ เขาจะห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด ก็คงเหมือนกับระเบียบการทั่วไปของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือพระราชวังใหญ่ๆหลายแห่งนั่นเอง


ฉากหินอ่อนฉลุลายงามเป็นพิเศษ ที่กั้นอีกชั้นหนึ่ง



แท่นพระศพของของกษัตริย์ ชาห์จาฮาน และ มุมตัช มาฮาล

ในปี พ.ศ. 2200 พระเจ้าชาห์ จาฮานทรงพระประชวร และในปี พ.ศ. 2201 พระโอรส โอรังเซบ จับพระเจ้าชาห์ จาฮานขัง และขึ้นครองราชบัลลังก์เเทน พระองค์ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ. 2209 หีบศพของมุมตัช มาฮาล ถูกเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานอยู่ในห้องใต้ดินบริเวณโดม ของโดมมโนสิงห์ หีบศพของมุมตัช มาฮาล และของกษัตริย์ชาห์จาฮาน ประดิษฐานอยู่นั้นเป็นหีบศพจำลอง กษัตริย์ชาห์จาฮาน เฝ้าระทมเพราะการจากไปของมุมตัช มาฮาล มเหสีสุดที่รักอยู่เป็นเวลาถึง 36 ปี ก็พอดีเกิดศึกกลางเมือง มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ขึ้นระหว่างพระโอรสของกษัตริย์ชาห์จาฮานเอง กษัตริย์ชาห์จาฮานถูกจับไปขังไว้ที่ป้อมใหม่เมืองอัครา โอรังเซบ โอรสของกษัตริย์ชาห์จาฮานขึ้นครองบัลลังก์แทน กษัตริย์ชาห์จาฮานจึงได้สวรรคตที่ป้อมแห่งนี้ ตามตำนานกล่าวว่าให้วันสุดท้ายของชีวิตพระองค์ใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ โอวังเซบ ราชโอรส จึงได้นำพระศพของพระบิดามาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระศพของมุมตัช มาฮาล มเหสี ซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม มีบางคนกล่าวว่าพระเจ้าชาห์ จาฮาน มิได้ประสงค์ที่จะถูกฝังร่วมกับพระมเหสี แต่พระองค์มีแผนการที่จะสร้างสุสานอีกแห่งด้วยหินอ่อนสีดำ เพื่อเป็นสุสานของพระองค์ แต่ผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าพระองค์ประสงค์ที่จะถูกฝังเคียงข้างพระนางมุมตัซ มาฮาล

การเข้าเยี่ยมชมทัชมาฮาลนั้น ต้องซื้อตั๋วประมาณเจ็ดร้อยรูปีต่อคน และควรเลือกวันธรรมดาที่จะมีผู้เข้าชมประมาณ 10,000 คน เพราะยิ่งในวันหยุดแล้ว จะมีคนไม่ต่ำกว่า 40,000 คนทีเดียว จะเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง และด้วยความที่อินเดียเป็นเมืองร้อน จึงควรเลือกไปเที่ยวช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน อากาศจะแจ่มใสและเย็นสบาย

ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลในรูปแบบ Microsoft Word ได้ที่นี่ http://www.4shared.com/file/101962950/15091cce/__online.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น